ปริญญาตรี

image

หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา

Bachelor of Engineering Program in Civil Engineering

Bachelor of Engineering Program in Civil Engineering

ดาวน์โหลดรายละเอียด

▶️ หลักสูตรฉบับเต็ม
▶️ หลักสูตรฉบับย่อ
▶️ ใบรับรองสภาวิศวกร

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา

ชื่อเต็ม (ไทย)  :  วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา)  
ชื่อย่อ (ไทย) :  วศ.บ. (วิศวกรรมโยธา)
ชื่อเต็ม (อังกฤษ)  :  Bachelor of Engineering (Civil Engineering)
ชื่อย่อ(อังกฤษ)  :  B.Eng. (Civil Engineering)  


ภาพรวมหลักสูตร

วิศวกรรมโยธาเป็นศาสตร์ทางวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจพื้นที่ การออกแบบโครงสร้างอาคาร (Building) การออกแบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) การประมาณราคา การศึกษาความเป็นไปได้ และการบริหารงานก่อสร้างโดยคำนึงถึงความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด งานวิศวกรรมโยธาพบเห็นได้ทั่วไปทั้งงานของภาครัฐและเอกชน เช่น งานถนนและสะพานของกรมทางหลวง งานฝายและเขื่อน การจัดการทรัพยากรน้ำของกรมชลประทาน งานอาคารของบริษัทเอกชน เป็นต้น

หลักสูตรทางวิศวกรรมโยธานี้ให้นิสิตได้เรียนรู้รายวิชารายวิชาศึกษาทั่วไป 10 วิชา (30 หน่วยกิต) และภาษาอังกฤษเฉพาะวิชาชีพ 1 วิชา (3 หน่วยกิต) เพื่อให้นิสิตมีทักษะการใช้ชีวิตที่ปรับตัวเข้ากับสังคมได้ รายวิชาพื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 4 วิชา (12 หน่วยกิต) เพื่อนำมาใช้ศึกษาวิชาบังคับเฉพาะทางวิศวกรรมโยธา รายวิชาบังคับเฉพาะทางวิศวกรรมโยธาจะมีหลากหลายแขนง ประกอบด้วย วิศวกรรมโครงสร้าง วิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมขนส่งและการทาง วิศวกรรมสำรวจ วิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และวิศวกรรมบริหารงานก่อสร้าง ที่บรรจุอยู่ในหลักสูตรนี้ (รวม 79 หน่วยกิต) โดยในแต่ละวิชาจะจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการระหว่างภาคทฤษฎีกับการฝึกปฏิบัติทางวิชาชีพ นอกจากนี้หลักสูตรยังเปิดกว้างให้นิสิตเลือกรายวิชาเฉพาะทางวิศวกรรมโยธาในแขนงที่ตนเองสนใจได้อย่างน้อย 3 วิชา (9 หน่วยกิต) และรายวิชาเสรีได้อีกอย่างน้อย 2 วิชา (6 หน่วยกิต) ดังนั้น นิสิตที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรนี้จึงสามารถทำงานทางวิศวกรรมโยธาได้หลากหลายตำแหน่งแล้วแต่ความถนัดของตนเอง ทั้งในหน่วยงานของรัฐและเอกชน

ในชั้นปีที่ 1 นิสิตจะได้เรียนพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ศึกษาในรายวิชาพื้นฐานทางวิศวกรรมโยธา การสำรวจพื้นที่ และการเขียนแบบก่อสร้าง โดยเน้นการเขียนแบบ 3 มิติ โดยใช้โปรแกรม AutoCAD และ Autodesk Revit รายวิชาในชั้นปีที่ 2 นิสิตจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการกำลังวัสดุและการวิเคราะห์โครงสร้างเพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในรายวิชาการออกแบบชิ้นส่วนโครงสร้าง แนวคิดการขนส่ง รวมถึงการจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling, BIM) และการประมาณราคางานก่อสร้าง ในชั้นปีที่ 3 นิสิตจะได้เรียนเกี่ยวกับการออกแบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โครงสร้างไม้และเหล็ก ปฐพีกลศาสตร์และการออกแบบฐานราก การออกแบบทางหลวง ในชั้นปีที่ 4 นิสิตจะได้เลือกเรียนในรายวิชาเฉพาะตามความสนใจของนิสิตซึ่งหลักสูตรบรรจุรายวิชาให้เลือกทุกแขนงวิชา พร้อมทั้งได้ฝึกประสบการณ์การทำงานเป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษา เพื่อให้นิสิตมีความพร้อมที่จะประกอบอาชีพวิศวกรโยธาในทันทีที่สำเร็จการศึกษา เพื่อให้เป็นวิศวกรโยธาได้ดี นิสิตต้องมีแรงจูงใจในการศึกษาและเตรียมความพร้อมสำหรับการปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นมืออาชีพ และร่วมทำงานกับผู้อื่นเพื่อทำให้ชีวิตของมนุษยชาติดีขึ้น เพื่อให้นิสิตมีความรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติวิชาชีพวิศวกรโยธาของตนเองในอนาคต โดยยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หลักสูตรจึงมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1. สามารถประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมโยธาตามกรอบความสามารถอย่างเหมาะสมและถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพวิศวกรรม
2. สามารถประยุกต์องค์ความรู้และทักษะด้านวิศวกรรมโยธา และบูรณาการความรู้เข้ากับศาสตร์ด้านอื่นในการแก้ปัญหาทางวิชาชีพอย่างมีหลักการและเหตุผล โดยคำนึงถึงหลักการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด สังคม และสิ่งแวดล้อม
3. สามารถสื่อสารงานด้านวิศวกรรมโยธา และทำงานร่วมกับผู้อื่นในบริบททางสังคมที่เป็นพหุวัฒนธรรม
4. สามารถพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าในวิชาชีพวิศวกรรมโยธา และปรับตัวให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

1. สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรอง
2. สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญาหรือเทียบเท่า หรือระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาชั้นสูงทั้งในประเทศหรือต่างประเทศซึ่งสภามหาวิทยาลัยรับรอง
3. เป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายไม่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
4. ไม่เคยต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
5. ไม่เคยถูกตัดชื่อออก หรือถูกไล่ออกจากสถาบันการศึกษาใด ๆ เพราะความผิดทางความประพฤติและเป็นไปตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วย การศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2561

เกณฑ์การสำเร็จการศึกษา

เป็นไปตามข้อบังคับสำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรเป็นไปตามข้อบังคับมหามหาวิทยาพะเยา ว่าด้วยการศึกษาระดับปริญญาตรี พ.ศ. 2561 โดยมีประเด็นสำคัญ คือ
1. เรียนรายวิชาต่าง ๆ ครบตามหลักสูตรและเงื่อนไขของสาขาวิชานั้น และไม่มีรายวิชาใดได้รับอักษร I หรืออักษร P
2. หลักสูตรปริญญาตรี 4 ปี สำเร็จการศึกษาได้ไม่ก่อน 6 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนเต็มเวลาและไม่ก่อน 14 ภาคการศึกษาปกติ สำหรับการลงทะเบียนเรียนไม่เต็มเวลา
3. มีค่าระดับขั้นสะสมเฉลี่ยตลอดหลักสูตรไม่น้อยกว่า 2.00
4. ไม่มีพันธะเรื่องเกี่ยวกับการเงินหรือพันธะอื่นใดกับมหาวิทยาลัย

ค่าธรรมเนียมการศึกษา

เป็นไปตามประกาศมหามหาวิทยาพะเยา เรื่อง กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรี ภาคปกติ พ.ศ. 2567
(หลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ภาคการศึกษาปกติ 21,000 บาท ภาคการศึกษาฤดูร้อน 10,500 บาท)